Ad naffnang

Thursday 18 February 2016

เมื่อฉันเป็นครูสอนเด็กเล็ก ตอน รับมือกับเจ้าหนูก้าวร้าว (Aggressive Behavior)

หลังจากที่เราได้ตกลงสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กฝรั่งวัย 3 ขวบครึ่ง  เราเพิ่งจะเข้าใจว่า เด็กวัยนี้ดูแลยากมาก  อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย  ถึงขั้นก้าวร้าวและ ใช้ความรุนแรง
เราได้หาข้อมูลทางเนต  มีบทความที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาแบ่งปันให้เพื่อนๆๆคะ

ลูกก้าวร้าว (Aggressive Behavior)

ผู้เขียน: โสธิดา ผุฏฐธรรม ครุศาสตร์มหาบัณฑิต (จิตวิทยาการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้าน

บทนำ

ลูกก้าวร้าว
พฤติกรรม ความก้าวร้าว (Aggressive Behavior) หมายถึง ลักษณะพฤติกรรมที่ทำร้ายหรือมุ่งทำร้ายผู้อื่น ซึ่งหมายรวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวร้าวทางวาจา การกลั่นแกล้ง การต่อสู้ ทำร้ายร่างกาย ปล้น ข่มขืน และฆาตกรรม เป็นต้น ซึ่งความก้าวร้าวนั้นสามารถปรากฏได้ในหลายรูปแบบ และมักจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พฤติกรรมก้าวร้าวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
  • พฤติกรรมก้าวร้าวเยี่ยงศัตรู (hostile aggression) หมายถึง พฤติกรรมก้าวร้าวที่มุ่งหมายให้เกิดความเจ็บปวดแก่บุคคลอื่น
  • พฤติกรรมก้าวร้าวที่เป็นเครื่องมือ (instrumental aggression) หมายถึง พฤติกรรมก้าวร้าวที่เป็นการใช้กำลังหรือการข่มขู่บุคคลอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เช่น สิ่งของ หรืออาณาเขต
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของคำนิยามข้างต้นอยู่ที่เจตนา ว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือจุดมุ่งหมายดังที่กล่าวไว้หรือไม่ ซึ่งทำให้การตัดสินปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการตีความเจตนาของเด็กเล็กทำได้ยาก และพฤติกรรมก้าวร้าวต่างๆ ที่เด็กแสดงออกมานั้นอาจไม่ได้มีเจตนามุ่งทำร้ายหรือมุ่งให้ได้มาซึ่งสิ่ง ที่ต้องการ แต่อาจมาจากความบกพร่องทางกายภาพหรือสติปัญญาบางประการของเด็ก ด้วยเหตุนี้ การสังเกตและตีความพฤติกรรมของเด็กอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้อย่างเหมาะสม

พฤติกรรมก้าวร้าวมีลักษณะอย่างไร?

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้ให้ความสนใจกับพฤติกรรมก้าวร้าวที่เริ่มในเด็กเล็กเพิ่มมากขึ้น มีการศึกษาตั้งแต่ในเด็กวัยเตาะแตะและวัยก่อนเข้าโรงเรียน โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กเล็ก ดังนี้
  • เด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องความก้าวร้าวอย่างเต็มที่จน กระทั่งอายุ 3-4 ขวบ ทว่าเด็กวัยเตาะแตะก็สามารถแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้ เช่น การทำร้ายพี่น้อง พ่อแม่ สัตว์เลี้ยง หรือสิ่งของต่างๆ
  • เด็กที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวก่อนอายุ 3 ขวบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
  • เด็กที่เริ่มแสดงความก้าวร้าวทางร่างกายหลังจากอายุ 5 ปีไปแล้ว มีจำนวนน้อยมาก
  • เด็กอายุ 2 ขวบ ซึ่งเป็นวัย terrible two จะมีอัตราการแสดงความก้าวร้าวบ่อยที่สุด แต่พวกเขาจะสามารถหาวิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่ดีกว่าเมื่ออายุ 4-5 ขวบ
เมื่อเข้าสู่วัยเรียน เด็กที่ก้าวร้าวมักจะทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูเป็นกังวล พวกเขาอาจขัดขวางการเรียนการสอน และทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ หรือทำให้เด็กคนอื่นๆ กลัว พวกเขายังอาจชอบโต้เถียงและแสดงความก้าวร้าวทางคำพูด นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ตัวเองและอารมณ์เสียได้ง่าย รวมถึงรู้สึกหงุดหงิดรำคาญผู้อื่นได้ง่าย พวกเขามักจะดื้อและมีลักษณะขี้โกรธ ขี้โมโห หากเราไม่ให้การช่วยเหลือเด็กเหล่านี้อย่างเหมาะสม พวกเขาจะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาพฤติกรรมต่างๆ เช่น โรคดื้อและต่อต้าน หรือปัญหาความเรื่องความประพฤติ เมื่อปัญหารุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของเด็กคนอื่นๆ หากปัญหารุนแรงถึงขั้นนี้ เด็กบางคนอาจถูกพักการเรียนหรือไล่ออกได้
อย่างไรก็ตาม เด็กอีกส่วนหนึ่งจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่รุนแรงหรือเป็นปัญหามากเท่า แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและครู เช่น พวกเขาอาจตี หยิก กระทุ้ง กระแทกเพื่อน หรืออาจขว้างปาสิ่งของขนาดเล็ก ทุบตีสิ่งของ หรือทำให้ข้าวของแตกหักเสียหายเมื่อพวกเขาโมโหหรืออารมณ์ไม่ดี ขณะที่เด็กบางคนอาจแสดงการอาละวาด เตะขา และกรีดร้อง นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจแสดงความก้าวร้าวทางวาจา เช่น เรียกเด็กคนอื่นๆ ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย พวกเขาอาจข่มขู่หรือล้อเพื่อน หรือใช้วิธีการทางอารมณ์เพื่อกลั่นแกล้งหรือทำให้เด็กคนอื่นเจ็บปวด นอกจากนี้ยังอาจใช้การกีดกันออกจากกลุ่มหรือการนินทาว่าร้ายผู้อื่น

พฤติกรรมก้าวร้าวมีสาเหตุมาจากอะไร?

มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ดังนี้
  • อารมณ์โกรธ เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เด็กเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ใช่เพียงแต่ความโกรธเท่านั้นที่มีผลต่อเด็ก แต่รวมไปถึง ความอิจฉา ความโลภ ความกลัว และความหมดหวัง
  • สัญชาตญาณ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว เวลาที่เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ระบบฮอร์โมนในร่างกายเด็กจะหลั่งสารอะดรีนาลีน (adrenaline) เพื่อป้องกันตัวหรือเอาตัวรอด
  • พันธุกรรม มีหลักฐานแสดงว่าพื้นฐานอารมณ์ และความผิดปกติต่างๆ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคอยู่ไม่สุข และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งภาวะเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว
  • ปัจจัยทางกายภาพ เช่น การบาดเจ็บที่สมองส่วนหน้า หรือโรคลมชักบางชนิด
  • การถูกกระตุ้นจากสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล และขาดทักษะในการแก้ปัญหา
  • การมีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง (insecure attachment) และแบบสับสน (disorganized attachment)
  • พ่อแม่มีรูปแบบการเลี้ยงดูที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น แบบเผด็จการ ควบคุม เอาใจ ทอดทิ้ง รวมถึงความไม่เข้ากันระหว่างพ่อแม่และลูก ทำให้มีผลกระทบต่ออารมณ์ของพ่อแม่ และส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกได้
  • ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
  • เด็กขาดต้นแบบที่ดี เช่น สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ที่ให้คุณค่าและเป็นตัวอย่างของพฤติกรรมที่ไม่ก้าวร้าว ขณะเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลทางลบจากสิ่งแวดล้อม เช่น สื่อต่างๆ ที่สะท้อนถึงความรุนแรง

การแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวมีความสำคัญอย่างไร?

ข้อมูลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กที่ไม่แสดงความก้าวร้าวในช่วงวัย เตาะแตะมักจะไม่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อโตขึ้นและเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ในขณะที่เด็กที่แสดงความก้าวร้าวแต่เล็กมักจะแสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคมที่ ต่อเนื่องและรุนแรงเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้ งานวิจัยล่าสุดยังชี้ให้เห็นว่าประมาณ 67% ของเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมเมื่ออายุ 2 ขวบ จะยังคงมีปัญหาดังกล่าวเมื่ออายุ 5-6 ขวบ และ 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 5 ขวบที่มีปัญหาเรื่องความก้าวร้าวยังคงมีปัญหาเดิมอยู่เมื่ออายุ 14 ปี และมีงานวิจัยอื่นๆ อีกที่สนับสนุนว่าปัญหาความก้าวร้าวในเด็กเล็กนั้น ราวครึ่งหนึ่งจะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงช่วงวัยรุ่น ที่น่าสนใจคือปัญหาความก้าวร้าวส่วนใหญ่ที่พบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักกระทำ โดยบุคคลที่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็ก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองและครูจะต้องใส่ใจแก้ปัญหาหากพบว่าลูก หรือเด็กนักเรียนมีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว หรือมีแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่จะมีปัญหาความก้าวร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต มีอิทธิพลอย่างสูงต่อพฤติกรรมของเด็ก และทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในทางที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความรุนแรงและผลเสียหายต่อตัวเด็ก ครอบครัว โรงเรียน และสังคมได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ไม่ว่ารูปแบบและระดับความก้าวร้าวของเด็กจะเป็นแบบใดก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองครูจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กเหล่านี้จะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนเองและจัดการกับความ โกรธและปัญหาต่างๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งผู้ใหญ่สามารถช่วยได้โดยการสอนให้รู้จักวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย แทนการใช้ความรุนแรง และคอยเอาใจใส่ดูแลและควบคุมเด็กๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องดังกล่าว

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกก้าวร้าวได้อย่างไร?

การช่วยเหลือเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะสนใจกับการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองควรที่จะสนใจอย่างต่อเนื่องด้วยความอดทน โดยใช้วิธีต่างๆ ดังนี้
  • หลีกเลี่ยงการทำโทษ หากพ่อแม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ลูกก็จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นด้วย
  • เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการควบคุมอารมณ์และการจัดการความโกรธ
  • สอนให้ลูกแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดีอย่างเหมาะสม
  • สนับสนุนให้ลูกพูดคุยถึงปัญหาที่มี และสอนทักษะในการแก้ปัญหาต่างๆ
  • ให้รางวัลเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่ก้าวร้าว โดยการแสดงความชื่นชมและภาคภูมิใจ
  • กำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน ว่าพฤติกรรมใดพึงประสงค์ พฤติกรรมใดไม่พึงประสงค์ และติดตามพัฒนาการ โดยใช้การเสริมแรงทางบวกร่วมด้วย เช่น ให้รางวัลพิเศษ หรือพาไปทำกิจกรรมที่ชอบ
  • เอาใจใส่และให้ความรักความเข้าใจ เลี้ยงดูลูกแบบให้การสนับสนุนและให้ความอบอุ่น หลีกเลี่ยงรูปแบบการเลี้ยงดูแบบเผด็จการ ควบคุม เอาใจ หรือทอดทิ้ง
  • สอนให้ลูกฝึกมองจากมุมมองของผู้อื่นหรือมุมมองที่ต่างออกไป เพราะเด็กที่ก้าวร้าวมักตีความเจตนาหรือพฤติกรรมของผู้อื่นผิดไป และมักตอบสนองอย่างก้าวร้าว
  • ลดความตึงเครียดและความวิตกกังวล ที่อาจทำให้เด็กเครียด ซึ่งทำให้ทักษะในการแก้ปัญหาของเด็กด้อยลง
  • ใช้วิธีแยกเด็กไปอยู่ที่มุมห้องชั่วคราวหรือ time out เมื่อเกิดการระเบิดอารมณ์หรือแสดงความรุนแรง เพื่อให้ทั้งเด็กและพ่อแม่ได้สงบสติก่อนพูดคุยกันด้วยเหตุผล
  • บอกเตือนล่วงหน้าก่อนหมดเวลาเล่นของเล่นหรือทำกิจกรรมบางอย่าง เพราะการสั่งให้หยุดในทันทีมักจะทำให้เด็กฉุนเฉียว
  • สังเกตว่าสิ่งที่เด็กเล่นหรือทำอยู่ เป็นสิ่งที่เด็กสนใจหรือไม่ ของเล่นหรือกิจกรรมที่น่าเบื่อหรือยุ่งยากเกินไปอาจทำให้เด็กหมดความอดทนและ อารมณ์เสีย พ่อแม่ควรเปลี่ยนให้ลองสิ่งใหม่ๆ แทน
  • ควบคุมการรับชมรายการโทรทัศน์และการเล่นเกมส์ให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่มีความรุนแรง และคอยให้คำแนะนำ

เกร็ดความรู้เพื่อครู

คุณครูสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ เช่นเดียวกับพ่อแม่ รวมถึงใช้แนวทางต่อไปนี้ด้วย
  • ทำความเข้าใจว่าเด็กอาจไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมและการแสดงออกของตนเองได้ตลอดเวลา
  • ระบุและลดสาเหตุของความเครียดที่นำไปสู่การแสดงความก้าวร้าว
  • สอนให้เด็กรู้จักและจัดการความรู้สึกและการกระทำที่จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อตนเองและผู้อื่น
  • วางแผนล่วงหน้าว่าจะป้องกันและรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเด็กแสดงความก้าวร้าวในสถานการณ์ต่างๆ
  • ในฐานะผู้ใหญ่ ควรเข้าใจและควบคุมสิ่งที่กระทบกระเทือนอารมณ์ของตัวเองได้อย่างดี
  • วางตัวเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเป็นผู้นำ น่าเคารพ ที่สามารถจัดการกับเด็กที่มีปัญหาได้
  • วางแผนล่วงหน้ากับผู้ปกครอง และ/หรือครูใหญ่ เพื่อกำหนดวิธีการและขอบเขตในการปฏิบัติต่อเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว

No comments:

Post a Comment